ความรู้จากการบวช: ข้อควรปฏิบัติของพระ (อาบัติ)

ญญะมะโต เวรัง นะ จียะติ
เมื่อคอยระวังอยู่ เวรย่อมไม่ก่อขึ้น
(พุทธศาสนสุภาษิต หมวดศีล)

ก่อนบวชนั้นผมรู้ว่า กฎและข้อควรปฏิบัติของพระสงฆ์ในนามของ “ศีล” และการทำผิดกฎเหล่านี้ว่า “อาบัติ” และรู้ว่าศีลของพระภิกษุนั้นมี ๒๒๗ ข้อ พระภิกษุที่ทำผิดศีลข้อใดข้อหนึ่ง เรียกว่า “ต้องอาบัติ” และการแก้อาบัติที่เรียกว่า “ปลงอาบัติ” รู้จัก “อาบัติปาราชิก” ว่าใครทำผิดต้องลาสิกขาหรือสึกทันที แต่หลังจากบวช และได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพระวินัยและข้อควรปฏิบัติของพระแล้ว ทำให้ผมรู้ว่า “ศีล” และ “อาบัติ” นั้นลึกซึ้งกว่านั้น หลายหัวข้อคล้ายคลึงกับกลไกทางโลกที่เราใช้ในชีวิตประจำวันที่เราใช้อยู่แล้ว หลายหัวข้อนั้นน่าจะเป็นประโยชน์แต่ยังไม่ได้นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ผมจึงลองเขียนในหัวข้อที่พอถ่ายทอดได้และเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นเรื่องลึกซึ้ง ถ้ามีข้อผิดพลาดประการใด ผมขออภัยและยินดีรับคำแนะนำจากผู้อ่าน และกรุณาศึกษาหรืออ้างอิงในแหล่งอื่น เช่น พระวินัยปิฎก หากท่านสนใจเพิ่มเติม

เรื่องแรกที่จะเขียนในบล็อกนี้คือ “ศีล” และ “อาบัติ” โดยเฉพาะเรื่อง “อาบัติ” หัวข้อในเรื่องนี้ที่น่าจะเป็นประโยชน์และพอถ่ายทอดได้ มีดังนี้

๑. ข้อควรปฏิบัติของพระไม่ได้มีแค่ ๒๒๗ ข้อ และศีลไม่ได้มี ๒๒๗ ข้อมาตั้งแต่ต้น

เราท่องกันว่าศีลของพระภิกษุมี ๒๒๗ ข้อ แท้จริงแล้วที่มาของการจัดกลุ่มศีล ๒๒๗ ข้อมาจากการจัดหมวดศีลที่ใช้สวดทุกขึ้น-แรม ๑๕ ค่ำหรือทุกกึ่งเดือน เรียกว่า “สวดปาติโมกข์” ศีลทั้ง ๒๒๗ ข้อจึงเป็น “ศีลในปาติโมกข์” แต่นอกเหนือจากนั้น ยังมีข้อควรปฏิบัติที่พระสงฆ์ควรทำ แต่ไม่อยู่ในศีล ๒๒๗ ข้อด้วย เรียกว่า “ศีลนอกปาติโมกข์” เช่น เรื่องการรักษาบาตร เรื่องกายบริหาร แม้แต่เรื่องการห้ามดูการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี และการละเล่น ซึ่งเป็นศีลข้อ ๗ ในศีล ๑๐ ก็ไม่ได้อยู่ในศีล ๒๒๗ ข้อ แต่ปรากฏอยู่ในส่วนอื่นของพระวินัย เช่น ในจุลศีลและมัชฉิมศีล อย่างไรก็ดี การทำผิดศีลนอกปาติโมกข์ ก็ยังต้องอาบัติเช่นเดียวกันกับศีลในปาติโมกข์

อนึ่ง ศีลทั้ง ๒๒๗ ข้อไม่ได้ตั้งมาเป็น ๒๒๗ ข้อในทีเดียว แต่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลตามเหตุการณ์ ด้วยเหตุนี้ศีลหลายข้อจึงอาจจะคล้ายคลึงกันแต่บัญญัติไว้ต่างเหตุการณ์กัน จึงแยกออกเป็นหลายข้อ ศีล ๒๒๗ ข้อจึงเป็นเหมือนการรวม (group) ศีลหมวดย่อย ๆ มาอีกทีหนึ่ง ซึ่งหมวดย่อยของศีล ๒๒๗ มี ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ เป็นต้น (ดังวิกิพีเดียหน้านี้) รวมกันได้ ๒๒๗ ข้อ

๒. การปลงอาบัติไม่ใช่วิธีพ้นจากอาบัติเสมอไป

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าอาบัตินั้นแบ่งออกเป็น ๗ ระดับ เรียงตามลำดับจากหนักไปเบา ได้แก่ อาบัติปาราชิก อาบัติสังฆาทิเสส อาบัติถุลลัจจัย อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติปาฏิเทสนียะ อาบัติทุกกฏ และอาบัติทุพภาสิต
อาบัติระดับหนักที่สุดคือ อาบัติปาราชิก เป็นชื่อที่รู้จักกันดี เพราะเป็นอาบัติที่ต้องแล้วจะขาดจากความเป็นพระทันที แม้ครองจีวรอยู่ก็เหมือนนุ่งผ้าเหลืองเปล่า ต้องลาสิกขาหรือสึกสถานเดียว และห้ามกลับมาบวชอีก อาบัติปาราชิกจึงเป็นอาบัติที่แก้ไม่ได้ ภาษาพระท่านเรียกว่า “อเตกิจฉา” เหตุให้อาบัติปาราชิกมี ๔ ประการ คือ (๑) เสพเมถุน (๒) ถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ได้ราคา ๕ มาสก (๓) แกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย (๔) อวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน (อ้างอิงคำจากนวโกวาท)

อาบัติที่หนักรองลงมาคือ อาบัติสังฆาทิเสส ถ้าพระรูปไหนต้องอาบัติประเภทนี้แล้ว จะแก้โดยการอยู่ปริวาสกรรมเพื่อสำนึกผิด การอยู่ปริวาสกรรมคือการอยู่ป่า หรือกักบริเวณ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “การอยู่กรรม” นั่นเอง เมื่อจบปริวาสกรรมแล้ว ต้องขอภิกษุ ๒๐ รูปสวดอัมพานให้ เพื่อพ้นจากอาบัติ ดูคล้ายโทษจำคุกในกฎหมายฆราวาส เหตุให้อาบัติสังฆาทิเสสมี ๑๓ ประการ ซึ่งอ่านได้ในนวโกวาท หรือศึกษาได้ในแหล่งข้อมูลอื่น ๆ

อาบัติทั้งสองระดับขั้นต้น ภาษาพระท่านเรียกว่าครุอาบัติ หรือ อาบัติหนัก ซึ่งจะต่างจาก อาบัติอีก ๕ ระดับที่เหลือ ซึ่งภาษาพระท่านเรียกว่า ลหุอาบัติ หรือ อาบัติเบา อาบัติหนักต่างจากอาบัติเบาตรงที่ อาบัติหนักจะแก้ด้วยวิธีปลงอาบัติไม่ได้ แต่อาบัติเบาเป็นอาบัติที่แก้ด้วยการปลงอาบัติได้ การปลงอาบัติคือการสารภาพให้พระรูปอื่นทราบว่าเราต้องอาบัติชนิดนี้แล้ว แต่อาบัติบางตัวอาจต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พระวินัยกำหนดเพิ่มเติมนอกเหนือจากการแสดงอาบัติด้วย เช่น ถ้าทำเตียงขนาดใหญ่เกินกำหนด ต้องตัดแต่งเตียงให้ขนาดเท่าที่กำหนดก่อน แล้วจึงค่อยสารภาพหรือปลงอาบัติจึงจะพ้นอาบัติได้

๓. การต้องอาบัติไม่ได้แปลว่ากระทำความชั่ว และอาบัติบางข้อไม่ได้มีเจตนาเป็นเงื่อนไข

ในพระวินัย ศีลหรือสิกขาบทสามารถแบ่งประเภทออกเป็น ๒ ประเภทดังอรรถกถา (คำวินิจฉัยภายหลัง) นี้ คือ โลกวัชชะ คือถ้าผิดศีลข้อนี้คือทำชั่ว มีอกุศลเป็นฐาน มักต้องตั้งใจทำ และมักผิดกฏหมายทางโลก เช่น ฆ่ามนุษย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น กับอีกประเภทหนึ่งคือ ปัณณัตติวัชชะ คือถ้าผิดศีลข้อนี้คือผิดมารยาทของพระ แต่ไม่ถึงกับทำชั่ว และมักทำโดยไม่ตั้งใจ เช่น หากอยู่ในถ้ำแล้วเข้าใจผิดเรื่องเวลา ทำให้ฉันหลังเที่ยงวัน ก็ยังอาบัติอยู่ดี เป็นต้น

ดังนั้น อาบัติจึงไม่ได้แค่ป้องกันพระภิกษุกระทำความชั่วเท่านั้น แต่ยังให้พระภิกษุคอยตรวจสอบการกระทำของตนเอง และคอยป้องกันไม่ทำซ้ำ ทำให้พระภิกษุมีสติตลอดเวลา และศึกษาทบทวนพระวินัยอยู่เสมอ เพราะพระภิกษุอาจต้องอาบัติโดยไม่รู้ตัวได้ การปลงอาบัติเบาโดยการสารภาพพระอีกรูปก็เช่นกัน คือเพื่อเตือนสติหรือเตือนความจำ เช่นเดียวกับที่เราบอกคนอื่นเพื่อเตือนความจำตนเอง

๔. อาบัติมีลักษณะขยายจากเล็กไปใหญ่

ถ้าท่านเคยอ่านพระไตรปิฎก หมวดพระวินัย ท่านจะเห็นรูปแบบ (pattern) หนึ่งในพระวินัย คือ ศีลหรือสิกขาบทแต่ละข้อ จะอธิบายลักษณะการละเมิดหรืออาบัติจากเล็กไปใหญ่ โดยเล่าขั้นตอนเหตุการณ์อย่างชัดเจน ยกตัวอย่าง ศีลที่ห้ามพระภิกษุว่ายน้ำเล่น จะอธิบายไว้ว่าถ้าวักน้ำ แกว่งเท้าในน้ำ ต้องอาบัติทุกกฏ ถ้าเล่นน้ำตื้นใต้ข้อเท้า ต้องอาบัติทุกกฏ ถ้าเล่นน้ำลึกเหนือข้อเท้าต้องอาบัติปาจิตตีย์ อย่างนี้เป็นต้น เพื่อเตือนให้พระภิกษุค่อย ๆ จัดการกับอาบัติเล็ก ๆ ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะต้องอาบัติที่ใหญ่กว่าต่อไป

This entry was posted in ความรู้จากการบวช, ประสบการณ์การบวช. Bookmark the permalink.

Leave a comment